Ottawa 2024: Melbourne Australia
/ 4 min read
The Ottawa 2024 Assessment: Near and Far
เล่าประสบการณ์ที่มีโอกาสได้มาร่วมงาน Ottawa conference 2024 ณ เมือง Melbourne ประเทศ Australia ช่วงวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2567 ร่วมเดินทางมากับคณะอาจารย์จากศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่มานำเสนอผลงานในเวทีนี้ด้วย
ออกเดินทาง
23 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ เริ่มเดินทางออกจากประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ใช้เวลาเดินทางบนเครื่องบิน 8 ชั่วโมงกับอีก 50 นาที จากสนามบินสุวรรณภูมิสู่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้ มาเยือนประเทศนี้ ห่างจากครั้งแรกประมาณ 6-7 ปี และที่สำคัญครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาเมลเบิร์น
การเดินทางในช่วงนี้สายการบินส่วนใหญ่ปรับมาใช้เครื่องบินลำตัวกว้าง 2 เครื่องยนต์กันหมดแล้วเนื่องด้วยสภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การทำกำไรจากการใช้เครื่องบินขนาดใหญ่เช่น Airbus A380 ที่ต้องมีผู้โดยสารถึง 400 กว่าคนจึงจะเริ่มมีกำไร ทำให้ครั้งนี้ได้ใช้บริการของเครื่องบิน Airbus A350-900 ของการบินไทย โดยรวมถือว่าค่อนข้างดี
ที่นั่งชั้น Economy นั่งลำบากเนื่องจากตัวสูง และไม่ชอบนอนในท่านั่ง จึงเป็นการโดยสารเครื่องบินที่ทรมานเช่นเคย สุดท้ายก็ไม่สามารถนอนหลับได้ตลอดทั้งไฟลท์
Melbourne first touch
24 กุมภาพันธ์ 2567
ถึงสนามบินนานาชาติ Tullamarine ของ Melbourne เวลาท้องถิ่นราวๆ 7 โมงเช้า เริ่มมาก็หลงกับทีมงานก่อนเลย ออกจากเครื่องบินได้คนหลังๆ ทำให้หลุดจากคณะที่เดินทางมาด้วยกัน เมื่อออกจากเครื่องบินก็ไม่เจอใครแล้ว ตัดสินใจเดินตามกระแสผู้คนไปก่อน จนมาถึง ด่านตรวจคนเข้าเมือง
ความสับสนแรกเกิดขึ้นคือ มีทั้งแบบ Kiosk ePassport และแบบ ช่องตรวจธรรมดา
จะถามใครก็ไม่ได้ อ่านก็ไม่เข้าใจ เพราะดูประเทศไทยก็น่าจะใช้ ePassport ได้ แต่ไม่เห็นมีคนไทยต่อแถวอยู่เลย จึงไปเข้าแถวปกติที่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทาง ผ่านไปได้ด้วยดี ออกมารับกระเป๋าที่สายพานรับกระเป๋าปรากฎว่าไม่เจอใครอีกแล้ว เริ่มรู้สึกแปลกๆ โทรหาใครก็ไม่มีคนรับ จังหวะนั้นเองเห็นทีมงานเริ่มเดินออกมา จากการสอบถามปรากฎว่าเป็นคนแรกๆ ที่ผ่านการตรวจหนังสือเดินทางมาได้ เพราะแถวที่ไปผ่านตู้ Kiosk เกิดมีปัญหาตู้เสียระหว่างการใช้งานจึงจำเป็นต้องไปต่อแถวใหม่
บรรยากาศสนามบิน Tullamarine คนค่อนข้างเยอะ แต่สนามบินไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักบางพื้นที่จะรู้สึกว่าคนค่อนข้างเยอะทำให้อึดอัดบ้าง เช่น โถงผู้โดยสารขาเข้า
ระหว่างทีี่ยืนรอทีมงานรวมตัว ได้สัมผัสกาแฟมื้อแรกที่สนามบินดังคำแนะนำของเพื่อนที่บอกว่า Melbourne กาแฟร้านไหนก็กินได้ จัด Longblack ไป 1 แก้ว
กาแฟดีสมคำร่ำลือ ซื้อมั่วๆ เจ้าแรกถือว่ารสชาติไม่เลว กว่าจะรวมตัวทีมงานได้ครบก็กินเวลาไปหลายชั่วโมง และแล้วคณะก็พากันเดินทางออกจากสนามบิน ไปตามแนวทางทัวร์ชะโงก นิยามคือ เน้นเที่ยวหลายๆ ที่ แต่นั่งรถซะหลายชั่วโมง วนไปวนมา ลงเรือบ้าง นั่งรถบ้าง ถือว่าได้ชมเมืองสวยๆ บรรยากาศดี จนหลังอาหารเย็น เริ่มไม่ไหวเพราะแทบไม่ได้นอน เลยขอแยกออกจากทีมงานที่ร้านอาหารออกมาก่อน เดินสำรวจเมือง และเดินทางตามเข้าโรงแรมในภายหลัง
Jetlag และเพลียสมบูรณ์แบบ
25 กุมภาพันธ์ 2567
เนื่องจากตลอดการเดินทางบนเครื่องบินกว่า 9 ชั่วโมงในยามค่ำคืนนั้น ไม่ได้นอนเลย จึงเจอปัญหาทั้ง jetlag (เวลาเร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง) และความอ่อนล้าจากการเดินทาง จึงขอแยกตัวออกจากคณะ เพราะต้องการนอนให้เต็มที่ ไม่ต้องการไปทัวร์ชะโงกแบบเดิมที่เน้นนั่งรถ เพราะวันนี้ทราบว่า นั่งรถไป 3 ชั่วโมง นั่งรถกลับอีก 4 ชั่วโมง ต้องออกตั้งแต่เช้า เดินทางไปดู twelve apostles
อันที่จริงเพื่อนชาวออสเตรเลียก็เชียร์ให้ไปดูให้ได้ ไหนๆ ก็เดินทางมาแล้ว แต่ร่างกายไม่ไหวจริงๆ มาตื่นเช้าเอาตอนเกือบ 11 โมง เนื่องจากตื่นสายมากเกินระยะเวลาบริการอาหารเช้าของทางโรงแรม จึงต้องออกไปหาอาหารเช้ารับประทานเอง เป็นอาหารมื้อแรกที่เลือกกินเอง ณ ออสเตรเลีย ในรอบนี้ ไม่ได้รีวิวอะไรทั้งสิ้น เดินสุ่มๆ ไปตามถนนร้านไหนน่ากินก็ลองจัดไปเลย
หลังจัดการอาหารมื้อแรกเรียบร้อยแล้ว เริ่มศึกษาวิธีใช้รถราง (tram) จากคนท้องถิ่น และหาข้อมูลจาก Google พบว่า มันดีมาก เดินทางใน zone CBD ไม่ต้องกังวลอะไรเลย นั่งเล่นๆ ได้เลย จะขึ้นลงตรงไหนฟรีหมด แต่ด้วยความยากของคนต่างชาติ กลัวว่าจะมีปัญหากรณีต้องจ่ายเงิน เช่น หลุดออกนอกโซน จึงไปหา Myki Card มาจาก 7-11 สำรองไว้
เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมเรื่องการโดยสาร tram ใน Melbourne พบว่าใช้งานง่ายกว่าที่คิด อย่างที่บอกข้างต้นว่าใน zone CBD ใช้งานฟรี (Free tram zone)
แปลว่าเราจะขึ้นลงตรงไหน เฉพาะสถานีที่อยู่ใน zone นี้ฟรีทั้งหมด แต่ถ้าเริ่ม หรือ สิ้นสุดที่นอก zone นี้จำเป็นจะต้องจ่ายค่าเดินทาง ซึ่งจะคิดเป็น zone ตามลำดับความไกลจาก CBD เป็นราคาเหมาๆ ต้องติดตามดูตารางราคาจากเว็บทางการอีกครั้งเพราะจำไม่ได้ แต่วิธีการขึ้นลงก็ไม่ต่างจากเดิมเพียงแต่จะต้องมีการ tap Myki card ตอนขึ้น tram (เท่านั้น) ด้วย
เมื่อการเดินทางมันแสนสะดวกและง่ายขนาดนี้ จึงใช้วิธีขึ้น tram แล้วลงตามสถานีที่คนท้องถิ่นลงเยอะๆ ค่อยๆ เดินสำรวจ หาสิ่งที่น่าสนใจไปเรื่อยๆ จนนึกขึ้นมาได้ว่ามี Crown Casino ที่เพื่อนแนะนำว่าให้ลองไปดู
เป็น casino ถูกกฏหมายตั้งอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก การเล่นมีทั้งแบบ Computer และ เล่นโต๊ะจริง เมื่อเดินทางมาถึง Casino ก็อยากจะลองเริ่มจากอะไรง่ายๆ ก่อนจึงตัดสินใจไปลองเครื่อง Slot ที่เป็นระบบ Computer แต่การที่จะเล่นได้นั้นจะต้องมีการสมัคร Member เพื่อใช้บัตรในการยืนยันตัวตน แลกเงินและออกตั๋ว (แทนเงิน)
วิธีการเล่นสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ ขั้นตอนแรกให้เสียบบัตรเข้าไปที่เครื่องกดรหัสผ่านตอนลงทะเบียน แล้วเติมเงินหรือตั๋ว (แทนเงิน) เข้าไปในเครื่องที่เราเสียบบัตรอยู่ เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ให้กดรับตั๋ว ออกมาโดยตั๋ว จะสามารถนำไปใช้เล่นเครื่องอื่นๆได้ หรือไปแลกเป็นเงินสดคืนที่ตู้อัตโนมัติ
เล่น Slot ไปได้สักพัก ทำท่าจะเสียเงินหมดยิ่งเล่นยิ่งหาย เปลี่ยนใจไปเล่นที่ถนัด Blackjack ก็พอจะได้กลับมาบ้าง กำไรเล็กน้อยๆ ไปจัดอาหารเย็นที่ Hungry Jack ได้ เสร็จแล้วก็กลับที่พักเข้านอน
1st day The Opening
26 กุมภาพันธ์ 2567
2 วันแรก 24-25 กุมภาพันธ์ (Pre-Conference) งาน Ottawa Conference 2024 เป็นส่วนของกิจกรรม workshop ซึ่งมีกิจกรรมให้เข้าร่วมหลากหลาย session
“Generative AI and assessment in health professional education” โดย Professor Iain Martin
เป็น Keynote เปิดตัวที่ดูทันสมัย และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีมานี้ Generative AI ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก การที่ Speaker ได้พูดถึงการนำ Generative AI มาใช้งานร่วมกับ Assessment จึงสร้างความน่าสนใจให้กับ Theme งานการประชุมครั้งนี้ และโดยส่วนตัวสามารถกระตุ้นความสนใจของตนเองได้เป็นอย่างดี
หลังจาก Keynote เปิดตัวเรื่อง Generative AI ที่น่าสนใจไป ผลงานทางวิชาการที่มานำเสนอ (ePoster) ล้วนเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีด้าน AI มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI ซึ่งตัวเด่นของเรื่องนี้คือ ChatGPT มี use case การใช้มากมาย เช่น การช่วยตรวจประเมินข้อสอบ การออกข้อสอบ หรือการนำมาเป็นตัวช่วยในการเรียนการเขียนบทความของนักเรียนเอง เป็นต้น นอกจากการใช้เทคโนโลยีในฝั่ง AI แล้วนั้น ยังมีการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นระบบ Virtual Classroom การใช้ Learning Platform มาช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น
2nd day The assessment technology
27 กุมภาพันธ์ 2567
Keynote วันที่ 2 นี้ก็ยังคงพูดถึงการถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีต่างๆ ในการออกแบบการประเมิน หรือการนำไปใช้งาน จะเห็นได้ว่าการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ Summary ที่สำคัญ ของ Professor Lambert Schuwirth - Flinders University
- AI is a tipping point
- Business as usual will no longer work
- Education and assessment need to realign their value propositions
- Programmatic assessment for learning is a promising avenue
- Technology-afforded students will become technology-afforded practitioners
- Consider using AI in a ‘programmatic - for learning’ approach
3rd day The Closing
28 กุมภาพันธ์ 2567
วันนี้เรื่องที่น่าสนใจยังคงมีหลายเรื่องแม้จะเป็นวันสุดท้าย แต่เรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจของเราได้เป็นอย่างดี คือ ”The challenges of contemporary cheating”
พูดถึงทั้งการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการโกงข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นการ Copy & Paste ข้อความที่เป็น MCQ ให้ Generative AI ช่วยทำให้ รายงานต่างๆ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งส่วนของการใช้ information ในการวิเคราะห์ว่าผลคะแนนที่ได้น่าจะเกิดจากการโกงหรือไม่ เสนอ case ตัวอย่างจนมีการตรวจสอบและพบหลักฐานการโกง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ได้
สำหรับ Keynote ปิดนั้นเป็นการสรุปเรื่องราวของ Assessment ในปีนี้ได้เป็นอย่างดี จุดเน้นที่สำคัญคือจะต้องทำให้ assessment บางอย่างเช่น formative เป็นมากกว่า data กล่าวคือจะต้องไปให้ถึงระดับ information เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง แล้วไปพัฒนาต่อในอนาคตได้
เก็บตก
ช่วงเวลาที่เข้าร่วมงานประชุม 3 วันนี้ จะมีบางช่วงเวลาที่สามารถออกไปท่องเที่ยวชมเมือง หรือสถานที่ต่างๆ ได้บ้าง จะแชร์เก็บเป็นความทรงจำไว้ตรงนี้
Free tram
การเดินทางในตัวเมือง Melbourne สามารถทำได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในเขต Central Business District (CBD) มีเขต Free Tram Zone เขียนไว้ชัดเจน สามารถขึ้นลงได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้การเดินทางที่จำเป็นจะต้องออกนอก Zone CBD สามารถทำได้สะดวกเช่นกัน ผ่านการใช้ Myki Card ซึ่งเป็นบัตรใบเดียวสามารถใช้ได้ทุกการขนส่งสาธารณะ
The Coffee
เป็นดังคำกล่าวของเพื่อนคนไทยชาว ออสซี่ ว่า “กาแฟในเมืองร้านไหนก็ได้ครับ” จากประสบการณ์ การสุ่มร้านกาแฟทั้งร้านที่คนเยอะ และร้านที่ไม่มีคน สามารถดื่มได้ทั้งหมด
เกร็ดความรู้เล็กน้อยสำหรับผู้ชื่นชอบการดื่มกาแฟ สำหรับชาวไทยที่นิยม Americano แล้วเดินทางมาถึงออสเตรเลียจะพบว่าแทบไม่มี Menu Americano กลับกลายเป็น Long black และ Short black ถ้าให้สรุปง่ายๆ คือ Long black = Americano ส่วน Short black = Espresso หากจะลงในรายละเอียดสำหรับความต่าง ของ Americano และ Long black นั้น เท่าที่เคยหาข้อมูลพบว่าเป็นลำดับการใส่ shot กาแฟ และน้ำ โดย Americano จะใส่ shot กาแฟไม่ก่อน แล้วค่อยใส่น้ำ ส่วน Long black จะกลับกันคือ ใส่น้ำก่อนแล้วค่อยใส่ shot กาแฟ
The Food
อาหารฝรั่ง! ตามนั้นเลยครับ เป็นอาหารแนวตะวันตก พวกขนมปัง แต่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นจึงมีอาหารชาติต่างๆ ให้เลือกไม่เว้นแม้กระทั่งอาหารไทย
ตัวอย่างอาหารลองมาทายกันดูครับว่าอาหารไทยในจานที่ถ่ายรูปมานี้คือ อะไร
คำตอบ คือ กะเพราหมูกรอบ
สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับกะเพราอยู่แล้วอาจจะงง แต่ผมได้รับคำแนะนำก่อนสั่งจากน้องคนไทยที่รับ order แล้วว่า “กะเพราที่นี่ไม่เหมือนที่ไทยนะคะ” ถือว่าน้องเขาเตือนแล้วครับ แต่ไอเราก็อยากลอง ถามว่ารสชาติเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่าพอกินได้ ไม่ได้กลิ่นใบกะเพราอะไรทั้งนั้น ถ้าให้นิยามคงเป็น หมูกรอบผัดผักน้ำมันหอย แนวๆ นี้มากกว่า
อีกร้านอาหารไทยที่ทัวร์พาไปรับประทานคือร้าน “ดู๋ดี๋ ป้ายแดง” รสชาติดี กินแล้วหายคิดถึงอาหารไทยได้จริง
แถมด้วยเครื่องดื่มมีฟอง ที่ได้ลิ้มลอง “Mango sticky rice” จากร้านอาหารไทยร้านหนึ่ง ถามว่ารสชาติเป็นอย่างไรบ้าง ขอตอบว่า “อืมมม”
อีกอันหนึ่งเป็นเบียร์ชื่อตรงตามสถานที่ ”Victoria Bitter” ถือว่ารสชาติดีทีเดียว ดื่มได้เรื่อยๆ
โดยสรุปถือว่าได้รับประสบการณ์ที่ดีทั้งจากงานประชุมวิชาการ และเมือง Melbourne ได้แรงบันดาลใจไปทำสิ่งใหม่ๆ อีกมาก